เมนู

6. ราหุลสังยุต



ปฐมวรรคที่ 1



1. จักขุสูตร



ว่าด้วยอายตนะมีจักษุเป็นต้นไม่เที่ยง



[599] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราหุล
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวาย
บังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ท่านพระราหุล
เมื่อนิ่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจง
ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว พึงเป็น
ผู้ ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียรส่งตนไปแล้ว อยู่.
[600] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนราหุล เธอจะ
สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง.
ท่านพระราหุลกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า.
รา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรละหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา

ของเรา.
รา. ไม่ควรตามเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[ เปยยาลเหมือนกัน]
พ. โสตะ. . . ฆานะ. . . ชิวหา. . . กาย. . . ใจ เที่ยงหรือ
ไม่เที่ยง.
รา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
รา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรละหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็น
อัตตของเรา.
รา. ไม่ควรตามเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[601] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ราหุล อริยสาวกผู้ได้สดับ
เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในโสตะ ย่อม
เบื่อหน่ายทั้งในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในกาย
ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลาย
กำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า จิต
หลุดพ้นแล้ว ดังนี้. อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหม-
จรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
มิได้มี.
จบจักขุสูตรที่ 1
[พึงทำสูตรทั้ง 10 สูตร โดยเปยยาลเช่นนี้]

ราหุลสังยุต



อรรถกถาจักขุสูตรที่ 1



ราหุลสังยุตจักขุสูตรที่ 1 มีวินิจฉัยต่อไปนี้.
บทว่า เอโก ได้แก่มีปกติอยู่ผู้เดียวในอิริยาบถทั้ง 4. บทว่า
วูปกฏฺโฐ แปลว่า ปลีกตัวไป สลัดไป. บทว่า อปฺปมตฺโต ได้แก่ตั้งอยู่
ในความไม่ปราศจากสติ. บทว่า อาตาปี ได้แก่ถึงพร้อมด้วยความเพียร.
บทว่า ปหิตตฺโต วิหเรยฺยํ ได้แก่เป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อประโยชน์
แก่การบรรลุคุณวิเศษอยู่. บทว่า อนิจฺจํ ได้แก่ชื่อว่าไม่เที่ยง โดย
อาการที่มีแล้วก็ไม่มี. อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าไม่เที่ยง ด้วยเหตุแม้เหล่านี้คือ
เพราะมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป. เพราะเป็นของเป็นไปอยู่ชั่วคราว
เพราะมีความแปรปรวนเป็นที่สุด เพราะปฏิเสธความเที่ยง. บทว่า ทุกฺขํ
ได้แก่ชื่อว่าทุกข์ด้วยเหตุ 4 ประการ คือ ด้วยอรรถว่า ทนได้ยาก ด้วย
อรรถว่า เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งความทนได้ยาก. ด้วยอรรถว่า บีบคั้นสัตว์
ด้วยการปฏิเสธความสุข. ตรัสว่า ควรหรือ ยึดถือด้วยตัณหาว่า นั่นของเรา
ยึดถือด้วยมานะว่า เราเป็นนั่น ยึดถือด้วยทิฏฐิว่า นั่นเป็นตัวของเรา.
บรรดาความยึดถือเหล่านั้น ยึดถือด้วยตัณหา ก็พึงทราบโดยอำนาจตัณหา
วิปริต 108 ยึดถือด้วยมานะ ก็พึงทราบโดยอำนาจมานะ 9 ประการ
ยึดถือด้วยทิฏฐิ ก็พึงทราบโดยอำนาจทิฏฐิ 62. ในคำว่า นิพฺพินฺทํ
วิรชฺชติ
นี้ ตรัสมรรค 4 ด้วยอำนาจวิราคะ. ในคำว่า วิราคา วิมุจฺจติ นี้
ตรัสสามัญญผล 4 ด้วยอำนาจวิมุตติ.
ก็ในพระสูตรที่ 1 นี้ ทรงถือเอาปสาทะในทวาร 5. ทรงถือเอา
สมันนาหารจิตที่เป็นไปในภูมิ 3 ด้วยบทนี้ว่า มโน.
จบอรรถกถาจักขุสูตรที่ 1